![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhhRWHj-H8sB5idxz9PZlAnrevCAhL8ZdXAbt_7oOT9SO8mcUolDSmXLHcvOxoBHUvqRpAW8NnrHfU2hLCNh3sU7V4-cQBHmq0gVyE63B9MrUCe6CLdJQ5J5tBLCJw3JIFMO8uL_G62_Vc7/s320/200px-Chateau_de_Ferrieres.jpg)
ตัวคฤหาสน์ที่ตั้งเด่นอยู่บนเนินสุดตรงสุดถนนทางเข้ามีอิทธิพลมาจากคฤหาสน์เมนท์มอร์เทาเออร์สในบัคคิงแฮมเชอร์ในอังกฤษ ซึ่งเป็นคฤหาสน์ที่แพกซ์ตันออกแบบให้กับเมเยอร์ อัมเชล เดอ รอธไชล์ดผู้เป็นหลานของบารอนเจมส์ หลังจากที่ได้รับคำสั่งว่า “สร้างเมนท์มอร์เทาเออร์สให้ผมหน่อย แต่ให้ใหญ่กว่าสักสองเท่า”
คฤหาสน์แฟร์ริเยร์สร้างเป็นแบบเรอเนซองส์อิตาลีโดยแต่ละมุมบ้านมีหอประดับ รอบบ้านเป็นลานลดหลั่นที่กว้างออกไปเป็นอุทยานภูมิทัศน์และสวนขนาด 1.25 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณป่าที่มีเนื้อที่ด้วยกันทั้งหมดราว 30 ตารางกิโลเมตรของบริเวณที่ตั้งคฤหาสน์ ภายในมีรูปสลักคนแบกเสา (แอทลาส หรือ แคริอาทิด) ที่แกะสลักโดยชาร์ลส์ อองรี โจเซฟ คอร์ดิเยร์ และภาพเขียนตกแต่งที่ควบคุมโดยเออแฌน ลามี โถงกลางที่เป็นจุดที่เด่นที่สุดในอาคารมีขนาด 37 x 60 เมตร และสูง 18 เมตร เพดานเป็นหลังคากระจกที่ให้แสงส่องเข้ามาภายในตัวอาคารได้ ห้องสมุดมีหนังสือกว่า 8,000 เล่ม เพราะความสำคัญของการเลี้ยงรับรองจึงทำให้นอกจากจะเป็นห้องพักส่วนตัวของสมาชิกในตระกูลรอธไชล์ดแล้วก็ยังมีห้องชุดสำหรับแขกอีก 80 ชุด
บารอนเจมส์สรรหางานศิลปะและประติมากรรมจากที่ต่างมาเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการตกแต่งห้องต่างๆ ในคฤหาสน์ งานประติมากรรมหลายชิ้นสร้างโดยอเล็กซองเดรอ ฟาลกิแยร์ และ อันโตนิโอ คอร์ราดินี และต่อมาก็มาเพิ่มงานของเรอเน เดอ แซงต์-มาร์โซ.
ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียระหว่างปี ค.ศ. 1870 ถึงปี ค.ศ. 1871 คฤหาสน์แฟร์ริเยร์ถูกยึดโดยเยอรมันและใช้เป็นสถานที่ในการเจรจาต่อรองระหว่างออทโท ฟอน บิสมาร์คนายกรัฐมนตรีแห่งปรัสเซียของสหพันธ์เยอรมันเหนือ และฌูล ฟาฟเรอรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายเยอรมันก็ยึดคฤหาสน์แฟร์ริเยร์อีก แต่ครั้งนี้ได้ทำการขโมยงานศิลปะต่างๆ ที่สะสมไว้ไปเป็นจำนวนมาก คฤหาสน์ถูกทิ้งร้างมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1959 เมื่อกี เดอ รอธไชล์ดและภรรยาคนใหม่มารี-เฮเลนเนอ เดอ ซุยเลน ฟาน นีเอฟกลับมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ จนคฤหาสน์กลับกลายมาเป็นสถานที่รับรองขุนนางยุโรปและทำการสังสรรค์กับดาราฮอลลีวูดในงานเลี้ยงอันหรูหราอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1975 กี เดอ รอธไชล์ดและภรรยาก็อุทิศคฤหาสน์ให้แก่อธิการของมหาวิทยาลัยปารีส ในปัจจุบันคฤหาสน์แฟร์ริเยร์เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้พร้อมกับมัคคุเทศน์ และ ในโอกาสพิเศษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น