วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

อันตรายจากเครื่องสำอาง

ถึงแม้ว่าเครื่องสำอางจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายค่อนข้างต่ำ แต่บางครั้งผู้บริโภคใช้เครื่องสำอางแล้วอาจเกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องสำอางโดยตรง อาจเกิดอาการได้ตั้งแต่ ระคายเคือง คัน แสบ ร้อน บวมแดง เป็นผื่น ผิวแห้งแตก ลอก ลมพิษ หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลพุพอง น้ำเหลืองไหล แต่บางครั้งอาจพบความผิดปกติในบริเวณที่ไม่ได้สัมผัสกับเครื่องสำอางโดยตรงก็ได้ เช่น คันบริเวณเปลือกตา เนื่องจากแพ้สีทาเล็บที่ไปสัมผัสเปลือกตาโดยบังเอิญ
สาเหตุของการเกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ได้แก่

1. อันตรายจากตัวผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นเครื่องสำอางที่เก่า เสื่อมสภาพแล้ว อาจเนื่องจากผลิตมาเป็นเวลานาน หรือการเก็บรักษาไม่ดีพอ เป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีการลักลอบผสมสารห้ามใช้ จะสังเกตได้ว่ามักจะแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะไม่แสดงแหล่งผลิต หรือวันเดือนปีที่ผลิต สูตร ส่วนประกอบ หรือกรรมวิธีผลิตไม่เหมาะสม
2. การใช้ผิดวิธี ก่อนใช้เครื่องสำอางควรอ่านวิธีใช้ที่ฉลากให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใช้ให้ถูกคน ถูกเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ หรือเครื่องสำอางควบคุม มักจะมีคำเตือนและข้อควรระวัง รวมทั้งการทดสอบการแพ้ก่อนใช้ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ การใช้เครื่องสำอางผิดวิธี ได้แก่
การโรยแป้งฝุ่นลงบนตัวทารกโดยตรง ผงแป้งจะฟุ้งกระจายไปทั่ว เมื่อเด็กสูดลมหายใจ จะได้ผงแป้งไปสะสมในปอด เป็นอันตรายต่อปอด การใช้เครื่องสำอางในปริมาณที่มากเกินไป หรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้
เครื่องสำอางที่ระบุให้ใช้แล้วล้างออก ถ้าไม่ล้างออก ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
การใช้ผิดเวลา เช่น ระบุให้ทาก่อนนอน (เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยากับแสงแดด) หากทาในตอนกลางวัน เมื่อโดนแสงแดด ก็อาจเกิดอันตรายได้ ใช้เครื่องสำอางแล้วไม่ปิดภาชนะบรรจุให้สนิท อาจมีฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคลงไปปนเปื้อนได้

3. ตัวผู้บริโภคเอง เช่น วัยของผู้ใช้ เด็ก และผู้สูงอายุ ผิวหนังจะบอบบางและแพ้ง่ายกว่าวัยอื่น ตำแหน่งของผิวหนัง ผิวหนังบริเวณใบหน้า โดยเแพาะรอบดวงตา/ริมฝีปาก จะบอบบางกว่าบริเวณอื่น อาจเกิดการแพ้ หรือระคายเคืองได้ง่าย การแพ้เฉพาะบุคคล เช่น แพ้น้ำหอม หรือสารกันเสีย บางชนิด ความประมาทในการใช้เครื่องสำอาง เช่น แชมพูเข้าตาเวลาสระผม / ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น แล้วติดเชื้อโรคมาด้วย / แต่งหน้าขณะอยู่ในรถ อาจเกิดอุบัติเหตุได้

บางครั้งเมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อและใช้เครื่องสำอางด้วยความระมัดระวังแล้ว ก็ยังอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ พึงประสงค์ได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1. การระคายเคือง (Irritation) เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (irritants) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นกรด หรือด่างสูงๆ (น้ำยาดัดผม , ผลิตภัณฑ์กำจัดขน , ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกออกเร็วขึ้น) ความรุนแรงของการระคายเคืองจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร และระยะเวลาที่สารสัมผัสกับผิว การระคายเคืองนั้นเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน และพบได้บ่อยกว่าการแพ้
2. การแพ้ (Allergy) เป็นปฏิกิริยาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคน จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคอาจเกิดความผิดปกติขึ้นทันทีที่สัมผัสกับสารที่ก่อให้เเกิดการแพ้ (Allergen) หรือมีอาการภายหลังก็ได้ และผู้ที่แพ้สารใดแล้ว เมื่อสัมผัสกับสารนั้นเพียงเล็กน้อยก็จะเกิดอาการแพ้ขึ้นได้
สารที่พบว่าก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อยเป็นอันดับหนึ่ง คือ สารแต่งกลิ่นหอม (fragrance / perfume) รองลงมาได้แก่สารกันเสีย (preservatives) และสารป้องกันแสงแดด (sunscreens)

ขณะนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้วยข้อความ "ไฮโป-อัลเลอร์เจนิก (Hypoallergenic)" หรือข้อความอื่นๆที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน เช่น ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนัง , ผ่านการทดสอบการแพ้ (dermatologist test/ allergy test) ข้อมูลเหล่านี้มาจากผู้ประกอบธุรกิจ จึงมักจะเน้นแต่ข้อดีของผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะเรื่องการแพ้ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถรับประกันได้ว่าไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ดังนั้น ผู้บริโภคพึงไตร่ตรองข้อมูลต่างๆอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น